
ควายไทยเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณต่อคนไทยมาช้านาน มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวนา ชาวนานิยมเลี้ยงควายไว้เพื่อใช้ไถนา เมื่อวิถีการทำนาของชาวนาไทยเปลี่ยนไป ชาวนาก็เลี้ยงควายน้อยลง จึงหาดูได้ยากโดยเฉพาะควายเผือก หาดูได้ยากมาก

วันนี้ (25 ธ.ค.62) ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุรินทร์ลงพื้นที่ทุ่งนาบ้านโนนแดง หมู่ที่ 7 ตำบลยาง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ พบกับลุงเบิ้ม หรือนายสาคร รัตนวัน อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 130 ม.7 ต.ยาง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ กำลังเลี้ยงควายอยู่ในทุ่งนาบริเวณกว้าง ที่มีหญ้าขึ้นเขียวขจี มีพื้นที่ให้ควายได้เดินเล็มหญ้าอย่างอิสระ มีฝูงวัว ควายอยู่ในบริเวณนั้นหลายตัว หนึ่งในนั้นมีลูกควายเผือกอายุ 2 วัน รูปร่างสูง ยาว ตัวสีเผือกคล้ายฝรั่ง เดินอยู่ข้างๆแม่ควายไทยตัวสีดำ
จากการสอบถามลุงเบิ้ม กล่าวว่า ตนมีอาชีพทำนาและเลี้ยงควายจำนวน 5 ตัว แม่ควายไทยตัวนี้เพิ่งซื้อมาเลี้ยงได้ 2 ปี มีลูกแล้ว 2 ตัว เป็นสีดำทั้ง 2 ตัว ลูกควายเผือกตัวนี้เป็นตัวที่ 3 เพิ่งคลอดได้ 2 วัน ลักษณะของลูกควายเผือกตัวนี้นอกจากผิวเผือกแล้วยังตัวสูงใหญ่

คล้ายฝรั่ง ประกอบกับตนก็ชื่นชอบนักร้องฝรั่งที่สามารถร้องเพลงไทยได้เพราะ ชื่อ “โจนัส” จึงได้ตั้งชื่อลูกควายเผือกตัวนี้ว่า “โจนัส” ซึ่งเป็นลูกควายเผือกที่ได้รับความสนใจจากคนละแวกนี้มาก มีคนแวะเวียนมาดูหลายคน นายฮ้อย(พ่อค้าควาย) มาถามซื้อแล้วหลายคน
แต่เจ้าของไม่ยอมขาย เพราะมีความตั้งใจว่าจะเลี้ยงไว้เอง เป็นการอนุรักษ์ควายไทย โดยเฉพาะควายเผือก ซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยาก แทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว จึงอยากเลี้ยงไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้ดู ตนรู้สึกดีใจมากที่ได้ลูกควายเผือก
ไม่ทราบว่าไปผสมพันธุ์กับพ่อพันธุ์ตัวไหน เพราะตนปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ ในละแวกนี้ก็ไม่มีควายเผือกด้วย ผู้ที่สนใจอยากเห็นความน่ารักของ “โจนัส” ลูกควายเผือก สามารถมาดูได้ที่บ้านโนนแดง ม.7 ต.ยาง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ หรือโทรสอบถามลุงเบิ้ม ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0879667465


ภาพ/ข่าว นายสมุทร สนิทพันธ์ ผู้สื่อข่าวสุรินทร์นิวส์ เรียบเรียง นายสมศักดิ์ ตระกูลสุข
เชิญร่วมบริจาค สนับสนุนสุรินทร์นิวส์ (2563)
เว็บไซต์สุรินทร์นิวส์ โซเซียลมีเดียในเครือข่าย “สุรินทร์นิวส์” เปิดรับเงินสนับสนุนด้วยการให้โอนเงิน ผ่านธนาคารกรุงไทย สาขาโรบินสันสุรินทร์
ชื่อบัญชี Surinnews Newspapere บัญชีเลขที่ 982-0-83891-6
เพื่อ “ชมรมผู้สื่อข่าวสุรินทร์นิวส์” นำไปใช้ในกิจกรรมสาธารณะกุศล และสร้างกระบวนการเรียนรู้สื่อชุมชน