รองพ่อเมืองช้างลงพื้นที่ชายแดน เปิดพิธี“ลงแขกเกี่ยวข้าว สืบสานประเพณี วิถีพอเพียง” อ.กาบเชิง จังหวัดสุรินทร์

วันที่ 17 พ.ย. เวลาประมาณ 9.00 น. นายนราธร ศรประสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธาน เปิดโครงการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการจัดการหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ โดยวิธีเกษตรธรรมชาติ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสุรินทร์ อ.กาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
โดยมีนายเรืองยศ ลิ้มนุกูลเจริญ นายอำเภอกาบเชิง นายวิชาญชัย แสบงบาล ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ว่าที่ ร.ต.สังคม สันติภพ รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานเครือข่าย คณะเจ้าหน้าที่ บุคลากร ผู้นำชุมชน และประชาชนบริเวณชายแดน ไทยกัมพูชา กว่า 80 คนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
นายวิชาญชัย แสบงบาล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสุรินทร์ กล่าวรายงานว่า ด้วยศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสุรินทร์ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ในการจัดการศึกษาและอบรมอาชีพให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ความต้องการ ของประชาชนบริเวณชายแดน ไทย –กัมพูชา เป็นศูนย์สาธิต วิจัย ทดลอง


เพื่อนำองค์ความรู้ด้านอาชีพ สู่ประชาชนชายแดน และเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบการจัดกิจกรรม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับประชาชนด้วยวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายส่งเสริมการอนุรักษ์ วัฒนธรรมประเพณีและความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน
เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สามารถนำความรู้มาบูรณาการและปฏิบัติได้จริงในการทำการเกษตรของตนเอง สามารถพัฒนาอาชีพของตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวหอมมะลิโดยวิธีเกษตรธรรมชาติให้มีคุณภาพ การเก็บรักษาพันธุ์ข้าว
การจัดการแปลงนาหลังฤดูเก็บเกี่ยวและเพื่อให้ประชาชนผู้เข้าร่วมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการพัฒนาอาชีพโดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการเป็นประชาชนบริเวณชายแดน ไทย กัมพูชาในพื้นที่ อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ จำนวน ๘๐ คน


ด้านนางกฤตยา กลับมารัมย์ ครูชำนาญการศูนย์ฝึกฯกล่าวว่า ศูนย์ฝึกเราเป็นศูนย์สาธิตทดลองเป็นแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฐานนาข้าวได้นำวิธีการเกษตรธรรมชาติ โดยการปรับปรุงดิน ไถกลบตอซัง และดำนาเพียงต้นเดียว ข้อดีของการดำนาต้นเดียวก็คือการประหยัดเมล็ดพันธุ์ และเราก็ได้สืบสานอนุรักษ์ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวเพื่อให้ประชาชนได้มีความสมัครสมานสามัคคีด้วย
ข้อดีของการดำนาแบบวิธีธรรมชาติก็คือเป็นการทำนาแบบปราณีตและส่งผลไปถึงเรื่องของสุขภาพ เพราะว่าชาวบ้านปัจจุบันนี้จะทำนาแบบนึกถึงปุ๋ย นึกถึงสารเคมีเป็นอันดับแรก โดยที่ชาวบ้านไม่ได้มองเห็นถึงทรัพยากรที่อยู่ใกล้ตัวเราควรจะทำให้ดินสะอาด เมื่อดินสะอาด ข้าวที่ได้รับสารจากดินก็จะเป็นข้าวที่สะอาด
ซึ่งข้าวก็น่าจะเป็นยาด้วย ความจริงแล้วอยากให้พี่น้องเราทำนาเอาไว้กินเป็นของตัวเองก่อน เรารู้วิธีการทำ กระบวนการทำที่สะอาดแล้ว ข้าวที่เราทานก็ส่งผลให้สุขภาพของเรา ต่อผู้บริโภค และต่อสังคม ซึ่งจะเป็นความยั่งยืนมากกว่า

ภาพ/ข่าว ปัญจพัฒน์ ทองนำ ผู้สื่อข่าวสุรินทร์นิวส์ รายงาน
เชิญร่วมบริจาค สนับสนุนสุรินทร์นิวส์ (2563)
เว็บไซต์สุรินทร์นิวส์ โซเซียลมีเดียในเครือข่าย “สุรินทร์นิวส์” เปิดรับเงินสนับสนุนด้วยการให้โอนเงิน ผ่านธนาคารกรุงไทย สาขาโรบินสันสุรินทร์
ชื่อบัญชี Surinnews Newspapere บัญชีเลขที่ 982-0-83891-6
เพื่อ “ชมรมผู้สื่อข่าวสุรินทร์นิวส์” นำไปใช้ในกิจกรรมสาธารณะกุศล และสร้างกระบวนการเรียนรู้สื่อชุมชน